วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงดินแดนอย่างใหญ่หลวงในยุโรป ด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลาง รวมทั้งการล่มสลายของรัฐจักรวรรดิที่สำคัญ ได้แก่ จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมัน ตลอดจนจักรวรรดิรัสเซีย ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อิตาลี เซอร์เบียและโรมาเนีย รวมไปถึงการก่อตั้งรัฐใหม่หลังจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและออตโตมันล่มสลาย หลังสงคราม ชาตินิยมอุดมการณ์ เรียกร้องดินแดน (irredentism) และลัทธิแก้แค้น (revanchism) กลายมามีความสำคัญในหลายประเทศยุโรป อุดมการณ์เรียกร้องดินแดนและลัทธิแก้แค้นแรงกล้ามากในเยอรมนี เพราะเยอรมนีบังคับตามสนธิสัญญาแวร์ซาย[7] เป็นผลให้เยอรมนีเสียดินแดนของประเทศไปร้อยละ 13 รวมทั้งอาณานิคมโพ้นทะเลทั้งหมด การรวมเยอรมนีเข้ากับประเทศอื่นถูกห้าม ซ้ำต้องแบกภาระชำระค่าปฏิกรรมสงครามมหาศาล และถูกจำกัดขนาดและขีดความสามารถของกองทัพอย่างมาก[8] ขณะเดียวกัน สงครามกลางเมืองรัสเซียได้นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต นำโดยพรรคบอลเชวิค ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์[9]
จักรวรรดิเยอรมันสิ้นสภาพไปจากการปฏิวัติเยอรมนีใน ค.ศ. 1918-19 และรัฐบาลประชาธิปไตยถูกตั้งขึ้น ซึ่งภายหลังรู้จักกันว่า สาธารณรัฐไวมาร์ ในเยอรมนีระหว่างสงครามโลกได้เกิดความขัดแย้งภายในขึ้นระหว่างผู้สนับสนุน สาธารณรัฐใหม่และผู้คัดค้านที่ยึดมั่นทางฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย พรรคนาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เจริญรอยตามการจัดตั้งรัฐบาลฟาสซิสต์ตามอย่างอิตาลีในเยอรมนี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้การสนับสนุนพรรคนาซีภายในประเทศเพิ่มขึ้น และใน ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ไรช์สทัก ฮิตเลอร์สถาปนารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จพรรคการเมืองเดียวนำโดยพรรคนาซี[10]
สถานการณ์คล้ายกันนี้ยังได้เกิดขึ้นในอิตาลี แม้ว่าอิตาลีจะเป็นพันธมิตรฝ่ายไตรภาคีและได้รับดินแดนอยู่บ้าง แต่พวกชาตินิยมอิตาลีรู้สึกโกรธแค้นที่คำมั่นสัญญาของอังกฤษและฝรั่งเศสให้ ไว้เพื่อให้อิตาลีเข้าสู่สงครามในสนธิสัญญาลอนดอน ไม่เป็นไปตามการตกลงสันติภาพ นับจาก ค.ศ. 1922 ถึง 1925 ขบวนการฟาสซิสต์ นำโดยเบนิโต มุสโสลินี ยึดอำนาจในอิตาลีด้วยวาระชาตินิยม เผด็จการเบ็ดเสร็จและความร่วมมือระหว่างชนชั้น ซึ่งยกเลิกระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน สังคมนิยมใช้อำนาจบังคับ กำลังฝ่ายซ้ายและเสรีนิยม และดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบก้าวร้าวโดยมีเป้าหมายเพื่อสถาปนาอิตาลีเป็น มหาอำนาจของโลกโดยใช้กำลัง คือ "จักรวรรดิโรมันใหม่"[11]
ทหารญี่ปุ่นรุกรานจีนในกรณีมุกเดน
ส่วนทางด้านประเทศจีน รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้ เริ่มการทัพรวมชาติขึ้นต่อต้านเหล่าขุนศึกอิสระ จนนำไปสู่การรวมชาติในนามราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1920 แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจีนกลับต้องเข้าไปพัวพันในสงครามกลางเมืองกับพันธมิตรเก่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน[12] ใน ค.ศ. 1931 จักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการจะมีอิทธิพลเหนือประเทศจีนมาเป็นเวลานานแล้ว[13] กำลังเพิ่มกำลังทหารในจีนอย่างขนานใหญ่ เพื่อเป็นแผนการขั้นแรกในการเข้าปกครองทั้งทวีปเอเชีย โดยใช้กรณีมุกเดนเป็นข้ออ้างในการรุกรานแมนจูเรีย และจัดตั้งรัฐหุ่นเชิด แมนจูกัว[14] จีนได้ขอความช่วยเหลือจากสันนิบาตชาติ ญี่ปุ่นจึงลาออกจากองค์การหลังมีการประณามการรุกรานดังกล่าว หลังจากนั้น ทั้งสองชาติได้เกิดการปะทะกันประปรายขึ้นอีกหลายครั้ง จนกระทั่งนำไปสู่การพักรบตางกู ในปี ค.ศ. 1933 แต่ถึงกระนั้น กองกำลังอาสาจีนก็ยังคงต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นต่อไปในอีกหลายพื้นที่ ทั้งในแมนจูเรียและมองโกเลียใน[15]
ฮิตเลอร์กับมุสโสลินีประกาศอักษะต่อกัน ค.ศ. 1935
ต่อมา ฮิตเลอร์สนับสนุนนโยบายการจัดระเบียบโลกใหม่โดยอาศัยปัจจัยทางด้านเชื้อชาติ และเริ่มเสริมสร้างกำลังทหารครั้งใหญ่[16] เพื่อรักษาพันธมิตรของตน ฝรั่งเศสจึงยินยอมให้อิตาลียึดครองเอธิโอเปีย ซึ่งอิตาลีต้องการยึดเป็นอาณานิคมอยู่แล้ว เหตุการณ์เริ่มเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อถึงช่วงต้น ค.ศ. 1935 ซาร์ลันด์ได้รวมเข้ากับเยอรมนีตามกฎหมาย และฮิตเลอร์ได้ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซาย พร้อมกับเร่งการฟื้นฟูกองทัพและเริ่มให้มีการเกณฑ์ทหารอย่างรวดเร็ว[17]
ในความพยายามที่จะจำกัดวงเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลีจึงก่อตั้งแนวสเตรซาขึ้น ด้านสหภาพโซเวียตเองก็กังวลต่อเป้าหมายยึดครองดินแดนยุโรปตะวันออกอันกว้าง ใหญ่ของเยอรมนีเช่นกัน จึงได้ทำสนธิสัญญาช่วยเหลือทวิภาคีกับฝรั่งเศส แต่สนธิสัญญาฝรั่งเศส-โซเวียตต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนของสันนิบาตชาติเสียก่อน ทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีผลเลย[18][19] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 สหราชอาณาจักรได้ทำสนธิสัญญาการเดินเรือแยกต่างหากกับ เยอรมนี โดยผ่อนปรนต่อข้อบังคับต่าง ๆ ที่เคยกำหนดมาก่อนหน้านี้ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็กังวลต่อสถานการณ์ซึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรปและทวีป เอเชีย จึงได้ผ่านรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางในเดือนสิงหาคม[20] ในเดือนตุลาคม อิตาลีรุกรานเอธิโอเปีย โดยมีเพียงเยอรมนีเป็นมหาอำนาจชาติเดียวในยุโรปที่สนับสนุนการรุกรานดังกล่าว อิตาลีจึงยกเลิกข้อคัดค้านต่อเป้าหมายการผนวกออสเตรียของเยอรมนี[21]

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น