วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สงครามปะทุ

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีและรัฐบริวารสโลวาเกียรุกรานโปแลนด์ วันที่ 3 กันยายน ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรประกาศสงครามกับเยอรมนี ตามมาด้วยบรรดาประเทศในเครือจักรภพแห่งชาติ แต่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่โปแลนด์เพียงเล็กน้อยเฉพาะการโจมตีขนาดเล็กของฝรั่งเศสเข้าไปในซาร์ลันด์เท่านั้น[68] แม้ว่าอีกทางหนึ่ง อังกฤษกับฝรั่งเศสจะเริ่มต้นการปิดล้อมทางทะเลต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 กันยายน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำลายเศรษฐกิจและความพยายามสงครามของเยอรมนี[69][70] วันที่ 17 กันยายน หลังจากสงบศึกชั่วคราวกับญี่ปุ่นแล้ว สหภาพโซเวียตก็ได้เริ่มการรุกรานโปแลนด์ของตนเอง[71] ท้ายสุด โปแลนด์ได้ถูกแบ่งออกระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ส่วนลิทัวเนียกับสโลวาเกียได้รับส่วนแบ่งบ้าง[72] ชาวโปแลนด์มิได้ยอมจำนนและสถาปนารัฐใต้ดินโปแลนด์ กองทัพป้องกันประเทศ (Home Army) ใต้ดิน และยังสู้อิงฝ่ายสัมพันธมิตรในทุกแนวรบนอกประเทศ[73] และในเวลาเดียวกับการรบในโปแลนด์ กองทัพญี่ปุ่นก็เปิดฉากโจมตีเมืองฉางซาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของจีน แต่ก็ถูกขับไล่กลับมาเมื่อปลายเดือนกันยายน[74]
ภายหลังการรุกรานโปแลนด์และการลงนามในสนธิสัญญากำหนดสิทธิปกครองลิทัวเนีย สหภาพโซเวียตได้บีบบังคับรัฐบอลติกเพื่อยินยอมให้สหภาพโซเวียตส่งกองทัพเข้าไปประจำการภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างกัน[75][76][77] ฟินแลนด์ปฏิเสธการเรียกร้องดินแดนและถูกสหภาพโซเวียตรุกราน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1939[78] และจบลงด้วยการยินยอมยกดินแดนบางส่วนให้กับสหภาพโซเวียต ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1940[79] ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรมองว่าสหภาพโซเวียตพยายามจะเข้าสู่สงครามโดยอยู่ ข้างเยอรมนี และได้ตอบสนองต่อการรุกรานโดยการขับสหภาพโซเวียตออกจากสันนิบาตชาติ[80][77] และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 สหภาพโซเวียตรุกรานและยึดครองรัฐบอลติก[76]
ในยุโรปตะวันตก อังกฤษได้วางกำลังบนยุโรปภาคพื้นทวีป แต่ในช่วงที่เรียกว่า สงครามลวง ไม่มีปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ระหว่างทั้งสองฝ่ายอีกกระทั่งเดือนเมษายน ค.ศ. 1940[81] ทางด้านสหภาพโซเวียตและเยอรมนีได้บรรลุสนธิสัญญาการค้าระหว่างกัน ซึ่งสหภาพโซเวียตได้รับเครื่องประกอบทางทหารและทางอุตสาหกรรมของเยอรมนีโดย แลกกับการส่งวัตถุดิบให้กับเยอรมนี ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากการถูกปิดล้อมเมืองท่าโดยราชนาวีสหราชอาณาจักร[82]
เดือนเมษายน ค.ศ. 1940 เยอรมนีรุกรานเดนมาร์กและนอร์เวย์ เพื่อควบคุมการขนส่งแร่เหล็กจากสวีเดน ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังจะขัดขวาง[83] เดนมาร์กได้ยอมจำนนอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่านอร์เวย์จะได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วก็ตาม แต่เยอรมนีก็ยังสามารถพิชิตนอร์เวย์ได้ในเวลาเพียงสองเดือน[84] ความไม่พอใจต่อผลของการทัพนอร์เวย์ของชาวอังกฤษได้นำไปสู่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรจากเนวิลล์ เชมเบอร์แลน เป็นวินสตัน เชอร์ชิลล์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940[85]

ที่มา  http://th.wikipedia.org/wiki/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น