วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ผลกระทบของสงคราม

ความสูญเสียและอาชญากรรมสงคราม

World War II Casualties2.png
ได้มีการประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สองไว้อย่างหลาก หลาย แต่ส่วนใหญ่ได้เสนอว่าคิดเป็นจำนวนมากกว่า 60 ล้านคน ประกอบไปด้วยทหารอย่างน้อย 22 ล้านคน และพลเรือนอย่างน้อย 40 ล้านคน[299][300][301] สาเหตุเสียชีวิตของพลเรือนส่วนใหญ่นั้นมาจากโรคระบาด การอดอาหาร การฆ่าฟัน และการทำลายพืชพันธุ์ ด้านสหภาพโซเวียตสูญเสียประชากรราว 27 ล้านคนระหว่างช่วงสงคราม คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[302]
จากความสูญเสีย 85% เป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร (ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวโซเวียต) และ 15% เป็นของฝ่ายอักษะ มีการประมาณว่ามีพลเรือนราว 12 ล้านคนเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี[303] 1.5 ล้านคนจากการทิ้งระเบิด และสาเหตุอื่นๆ ในยุโรปอีก 7 ล้านคน รวมไปถึงอีก 7.5 ล้านคนในจีน[304] โดยเหตุการณ์ที่โด่งดัง ได้แก่ การสังหารหมู่ที่นานกิง[305] โดยสาเหตุที่ตัวเลขความสูญเสียมีความแตกต่างกันมากนั้นมีสาเหตุมาจากว่าการตายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้
จำนวนการเสียชีวิตจำนวนมากเป็นผลมาจากการล้างชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในดิน แดนภายใต้การยึดครองของฝ่ายอักษะ และอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ ซึ่งถูกกระทำโดยชาวเยอรมันและชาวญี่ปุ่น โดยเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีของอาชญากรรมสงครามชาวเยอรมัน ได้แก่ การล้างชาติโดยนาซี ซึ่งเป็นการล้างชาติอย่างเป็นระบบในเขตยึดครองของเยอรมนีและพันธมิตร โดยนอกจากชาวยิวแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มความคิดอื่น ๆ ถูกสังหารอีกเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านคน[306] และด้านทหารญี่ปุ่นก็ได้สังหารพลเรือนราว 3 - 10 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ระหว่างสงครามโลกครั้งทีสอง[307]
นอกจากนั้น เรื่องของการใช้อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมียังได้ถูกนำมาตัดสินด้วย ทหารอิตาลีได้ใช้แก๊สมัสตาร์ดในการรุกรานเอธิโอเปีย[308] ส่วนญี่ปุ่นได้ใช้อาวุธดังกล่าวในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง[309][310] และในสงครามชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น[311] โดยทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นได้มีการทดลองอาวุธกับพลเรือนและเชลยสงครามจำนวนมาก[312][313]
ขณะที่การตัดสินคดีความอาชญากรรมสงครามของฝ่ายอักษะถูกชำระความในศาลชำระความระหว่างประเทศแห่งแรก[314] แต่ว่าอาชญากรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับตรงกันข้าม[315] ตัวอย่างอาชญากรรมสงคราม เช่น การถ่ายเทพลเรือนในสหภาพโซเวียต[316] ค่ายใช้แรงงานของโซเวียต[317] การกักกันชาวญี่ปุ่น-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการคีลฮาล[318] คำสั่งแผนกบริหารที่ 9066 การสังหารพลเรือนอย่างโหดร้ายของทหารโซเวียตในโปแลนด์ และการทิ้งระเบิดใส่โตเกียว หรือที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้แก่ เมืองเดรสเดน[319]
นอกจากนั้น ยังมีความสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าบางประการที่เป็นผลทางอ้อมของสงคราม อย่างเช่น ทุพภิกขภัยในแคว้นเบงกอล ค.ศ. 1943 เป็นต้น

ค่ายกักกันและการใช้แรงงานทาส

นักโทษผู้ทรมานในค่ายกักกันเมาน์ธิวเซน-กูเซน ประเทศออสเตรีย ในปี ค.ศ. 1945
การล้างชาติพันธุ์โดยนาซีได้ สังหารชาวยิวในทวีปยุโรปเป็นจำนวนอย่างน้อย 6 ล้านคน รวมไปถึงเชื้อชาติอื่นๆ อีกที่ถูกพวกนาซีลงความเห็นว่าเป็นพวกที่ "ไม่คู่ควร" หรือ "ต่ำกว่ามนุษย์" (รวมไปถึงผู้ที่ทุพพลภาพ ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต เชลยสงครามโซเวียต พวกรักร่วมเพศ สมาคมฟรีเมสัน ผู้นับถือลัทธิพยานพระเยโฮวาห์และชาวยิปซี) โดยเป็นส่วนหนึ่งของถอนรากถอนโคนอย่างจงใจ และได้รับการดำเนินการโดยรัฐบาลฟาสซิสต์นาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีกรรมกรและคนงานราว 12 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนมากมาจากยุโรปตะวันออก ได้ถูกว่าจ้างให้มาทำงานให้เศรษฐกิจสงครามของนาซีเยอรมนี[320]
นอกเหนือจากค่ายกักกันของนาซีแล้ว ยังมีค่ายกูลัก หรือค่ายแรงงานของ สหภาพโซเวียต ซึ่งได้นำไปสู่ความตายของพลเรือนจำนวนมากในดินแดนยึดครองของฝ่ายนาซีเยอรมนี และสหภาพโซเวียต ได้แก่ โปแลนด์ ลิธัวเนีย แลตเวียและเอสโตรเนีย รวมไปถึงเชลยสงครามของเยอรมัน และยังมีชาวโซเวียตบางส่วนที่คาดว่าเป็นผู้สนับสนุนของฝ่ายนาซี[321] จากหลักฐานพบว่าเชลยสงครามของโซเวียตกว่า 60% ของทั้งหมดได้เสียชีวิตระหว่างสงคราม[322] ริชาร์ด โอเวรีได้บันทึกตัวเลขเชลยศึกชาวโซเวียตไว้ 5.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 57% เสียชีวิต คิดเป็น 3.6 ล้านคน[323] เชลยศึกโซเวียตที่รอดชีวิตและหลบหนีเข้าสู่มาตุภูมิจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ (ดูเพิ่ม: คำสั่งหมายเลข 270) [324]
ศพคนตายกองทับซ้อนกันในค่าย 731 ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยพัฒนาอาวุธชีวภาพของญี่ปุ่น
ค่ายเชลยสงครามของญี่ปุ่นเองก็มีผู้เสีบชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังมีการตั้งเป็นค่ายแรงงาน ภายหลังจากการตัดสินของศาลทหารพิเศษนานาชาติแห่งภาคพื้นตะวันออกไกล (เดิมชื่อ ศาลพิเศษโตเกียว) ได้ลงมติว่าอัตราการเสียชีวิตของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรคิดเป็น 27.1% (ในจำนวนนี้เป็นทหารสหรัฐอเมริกา 37%) [325] คิดเป็นเจ็ดเท่าของอัตราเดียวกันของค่ายแรงงานของนาซีเยอรมนีและอิตาลี[326] แต่จำนวนดังกล่าวนั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชลยศึกชาวจีน ซึ่งจากคำสั่งที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1937 โดยจักรพรรดิฮิโรฮิโต ได้ระบุว่า ชาวจีนไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายระหว่างประเทศ[327] หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารสหราชอาณาจักรได้รับการปล่อยตัว 37,853 นาย ทหารเนเธอร์แลนด์ 28,500 นาย ทหารสหรัฐอเมริกา 14,473 นาย แต่พบว่าทหารจีนถูกพบว่าได้รับการปล่อยตัวเพียง 56 นาย[328]
อ้างอิงจากการศึกษาร่วมกันของนักประวัติศาสตร์ ได้สรุปว่า มีชาวจีนมากกว่า 10 ล้านคนถูกเกณฑ์โดยกองทัพญี่ปุ่น และถูกใช้แรงงานอย่างทาส เพื่อวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา ทั้งในแมนจูกัวและทางภาคเหนือของประเทศจีน[329] ห้องสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณว่าในเกาะชวาว่า ชาวอินโดนีเซียกว่า 4 ถึง 10 ล้านคนต้องถูกบังคับให้ทำงานแก่กองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ชาวอินโดนีเซียบนเกาะชวากว่า 270,000 คนได้ถูกส่งไปทำงานในดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีเพียง 52,000 คนเท่านั้นที่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นเดิมได้[330]
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ประธานาธิบดีรูสเวลล์ได้ลงนามในแผนการหมายเลข 9066 ซึ่งได้ทำการกักตัวชาวญี่ปุ่น ชาวอิตาลี ชาวเยอรมัน และผู้อพยพบางส่วนจากหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งหลบหนีหลังจากการโจมตีที่ฐานทัพเรือเพริ์ล ฮาเบอร์ในช่วงเวลาระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันถูกกักตัวโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นจำนวนกว่า 150,000 คน รวมไปถึงชาวเยอรมันและชาวอิตาลีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 11,000 คน
ขณะเดียวกัน ก็การใช้แรงงานโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออก อย่างเช่น ในโปแลนด์[331] แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานอีกกว่าล้านคนในตะวันตก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 หลักฐานของฝรั่งเศสได้ระบุว่ามีเชลยสงครามชาวเยอรมันกว่า 2,000 คน ตายหรือพิการทุกเดือนในอุบัติเหตุการเก็บกวาดทุ่นระเบิด[332]
ที่มา  http://th.wikipedia.org/wiki/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น