วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จุดเปลี่ยนของสงคราม

 
ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นได้เริ่มวางแผนยึดพอร์ตมอร์สบีในปฏิบัติการโม โดยการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบก เพื่อเป็นการตัดเส้นทางเสบียงระหว่างสหรัฐอเมริกากับออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเข้าขัดขวางและทำให้ทัพเรือญี่ปุ่นต้องล่าถอยไปได้ในยุทธนาวีทะเลคอรอล และสามารถขัดขวางการรุกรานปาปัวนิวกินีได้สำเร็จ[175] ส่วนแผนการขั้นต่อไปของญี่ปุ่น อันเกิดจากการกระตุ้นหลังกรุงโตเกียวถูกทิ้งระเบิด คือ การยึดครองหมู่เกาะมิดเวย์ รวมไปถึงการล่อเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันที่ยังคงเหลืออยู่ในมหาสมุทร แปซิฟิกมาทำลายในการรบด้วยและในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นได้ส่งอีกกองทัพหนึ่งไปยึดหมู่เกาะอะลูเชียนในอะแลสกา[176] ในต้นเดือนมิถุนายน ญี่ปุ่นก็ได้งัดเอาแผนของตัวเองออกมาปฏิบัติ แต่ก็ถูกสกัดกั้น เนื่องจากกองทัพสหรัฐอเมริกาสามารถถอดรหัสลับกองทัพเรือญี่ปุ่นได้ ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจึงได้เตรียมตัวรับมือกับการบุกของญีปุ่นได้อย่างถูก ต้อง รวมไปถึงใช้ข่าวกรองดังกล่าวกระทั่งได้รับชัยชนะเด็ดขาดในยุทธนาวีมิดเวย์เหนือกองทัพเรือญี่ปุ่น[177]
เนื่องจากญี่ปุ่นทรัพยากรในการรุกรานอย่างมากที่มิดเวย์ ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปทำการรบที่การทัพโคโคดะบนดินแดนปาปัว ในความพยายามอีกครั้งหนึ่งในการยึดพอร์ตมอร์สบี[178] สำหรับฝ่ายสหรัฐก็ได้วางแผนที่จะโจมตีตอบโต้ครั้งต่อไปในหมู่เกาะโซโลมอน โดยเริ่มต้นจากเกาะกัวดาคาแนล อันเป็นก้าวแรกของการเข้ายึดราบูล ซึ่งเป็นฐานทัพเรือหลักของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียอาคเนย์[179]
แผนการทั้งสองเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่เมื่อถึงกลางเดือนกันยายน ญี่ปุ่นจำต้องหันมาให้ความสำคัญกับการทัพกัวดาคาแนลมาก ขึ้น และกองทัพญี่ปุ่นในเกาะนิวกินีนั้นได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่เขต พอร์ตมอร์สบีไปยังทางตอนเหนือของเกาะ ที่ซึ่งกองทัพนี้ต้องเผชิญกับกำลังผสมระหว่างสหรัฐกับออสเตรเลีย[180] กัวดาคาแนลได้กลายเป็นจุดยุทธศาตร์สำคัญสำหรับทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดการทุ่มทรัพยากรคนและเรือรบมาเป็นจำนวนมากเพื่อทำการรบ จนกระทั่งในตอนต้นของปี ค.ศ. 1943 กองทัพญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้บนเกาะกัวดาคาแนลและถอยทัพกลับ[181] ในประเทศพม่า กองทัพเครือจักรภพได้รบในสองปฏิบัติการ หนึ่งคือการรุกเข้าไปในแคว้นอาระกันระหว่างการทัพพม่า ในปลายปี ค.ศ. 1942 แต่ก็ประสบความหายนะอย่างร้ายแรง และจำเป็นต้องถอยทัพกลับเข้าสู่อินเดีย ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943[182] และปฏิบัติการที่สอง ก็คือ การส่งกองกำลังนอกแบบเข้าทางด้านหลังแนวรบของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน ก็ได้รับผลที่ไม่แน่นอนเท่าใดนัก[183]
ทหารโซเวียตโจมตีอาคารบ้านเรือนระหว่างยุทธการสตาลินกราด ค.ศ. 1943
ขณะที่เหตุการณ์ในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพเยอรมันและพันธมิตรฝ่ายอักษะ ยังคงเอาชนะกองทัพโซเวียตที่ยุทธการคาบสมุทรเคิร์ชและยุทธการคาร์คอฟครั้งที่สอง[184] ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้เปิดฉากรุกหนักในฤดูร้อนในกรณีสีน้ำเงินใน แถบสหภาพโซเวียตตอนใต้ ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 เพื่อยึดครองแหล่งขุดเจาะน้ำมันทุกแห่งในแถบคอเคซัสและทุ่งหญ้าสเตปป์คูบาน อันกว้างใหญ่ เยอรมนีแบ่งหมู่กองทัพใต้ออกเป็นสองส่วน หมู่กองทัพเอถูกส่งไปโจมตีแม่น้ำดอนตอนล่าง ขณะที่หมู่กองทัพบีถูกส่งไปโจมตีทางตะวันตกเฉียงใต้โดยมุ่งหน้าไปยังคอเคซัส และแม่น้ำวอลกา[185] กองทัพโซเวียตได้ตัดสินใจที่จะตั้งรับที่สตาลินกราด ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของฝ่ายอักษะ
ตอนกลางเดือนพฤศจิกายน กองทัพอักษะเกือบจะพิชิตสตาลินกราดในการรบในเมืองอันขมขื่นได้แล้ว แต่กองทัพโซเวียตก็ทำการโจมตีโต้ในฤดูหนาวเป็นครั้งที่สอง โดยเริ่มจากการโอบล้อมกองทัพเยอรมันที่สตาลินกราด[186] ตามด้วยการโจมตีสันเขารซเฮฟ ใกล้กรุงมอสโก แม้ว่าในภายหลังจะปราชัยย่อยยับก็ตาม[187] ตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 กองทัพเยอรมันประสบกับความสูญเสียมหาศาล และกองทัพเยอรมันในสตาลินกราดถูกบีบบังคับให้ยอมจำนน[188] แนวรบด้านตะวันออกถูกผลักดันไปยังจุดก่อนการรุกในฤดูร้อน กลางเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่การโจมตีโต้กลับของโซเวียตหยุดชะงัก กองทัพเยอรมันได้โจมตีคาร์คอฟอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นแนวรบที่ยื่นเข้าไปในดินแดนของโซเวียตรอบเมืองเคิร์สก์[189]
รถถังครูเซเดอร์ของอังกฤษขณะดำเนินการรุดหน้าในการทัพแอฟริกาเหนือ
ทางด้านตะวันตก ด้วยความวิตกกังวลว่าญี่ปุ่นอาจใช้เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นฐานทัพของวิชีฝรั่งเศส กองทัพอังกฤษจึงสั่งดำเนินการโจมตีเกาะมาดากัสการ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942[190] และทางด้านการทัพแอฟริกาเหนือ การโจมตีครั้งล่าสุดของฝ่ายอักษะที่ยุทธการกาซาลา ได้ผลักดันให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรให้กลับเข้าสู่อียิปต์ จนกระทั่งการบุกต้องหยุดชะงักที่เอล อาลาเมน[191] ระหว่างการรบในช่วงนี้ บนยุโรปภาคพื้นทวีป หน่วยคอมมานโดของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตีโฉบฉวยเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ และจบลงด้วยการตีโฉบฉวยดิเอปเป ซึ่งผลเป็นความหายนะ[192] ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่สามารถของฝ่ายพันธมิตรตะวันตกในการออก ปฏิบัติการรุกรานยุโรปภาคพื้นทวีปโดยปราศจากการเตรียมการ ยุทโธปกรณ์และความมั่นคงทางปฏิบัติการมากกว่านี้[193]
ในเดือนสิงหาคม กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถผลักดันแนวรบฝ่ายอักษะให้ถอยไปในยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สอง และด้วยการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างสูงลิบ ก็สามารถขนทรัพยากรที่ต้องการไปให้เมืองมอลต้าที่ถูกปิดล้อมเอาไว้ได้ในปฏิบัติการฐานเสาหิน[194] จากนั้น ไม่กี่เดือนหลังจากยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สองในอียิปต์ ทางด้านอังกฤษและประเทศเครือจักรภพก็เริ่มเคลื่อนทัพไปทางทิศตะวันตกสู่ ประเทศลิเบีย[195] ไม่นานหลังจากที่การรุกรานแอฟริกาเหนือของฝรั่งเศสของสหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร ซึ่งก็ได้ชัยชนะ และเป็นผลให้ดินแดนดังกล่าวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร[196] ฮิตเลอร์ได้ตอบสนองต่อการเอาใจออกห่างของอาณานิคมฝรั่งเศสโดยการออกคำสั่งยึดครองวิชีฝรั่งเศส[196] ถึงแม้ว่าวิชีฝร่งเศสจะไม่ละเมิดเงื่อนไขในข้อตกลงหยุดยิง แต่กระทรวงทหารเรือของวิชีฝรั่งเศสได้จัดการจมกองทัพเรือของตนเพื่อมิให้ตก อยู่ในมือของฝ่ายเยอรมนี[197] เมื่อถูกบีบจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้กองทัพฝ่ายอักษะต้องถอยร่นไปตั้งรับในตูนิเซีย ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943[198]

ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งหลักได้

ทหารสหรัฐในการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นบนหมู่เกาะโซโลมอน
ภายหลังจากการทัพเกาะกัวดาร์คาแนล ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มปฏิบัติการทางทหารมากมายต่อกองทัพญี่ปุ่นในมหาสมุทร แปซิฟิก ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 กองทัพอเมริกันถูกส่งออกไปโจมตีกองทัพญี่ปุ่นจากหมู่เกาะอะลูเชียน[199] และเริ่มต้นปฏิบัติการหลักในการโดดเดี่ยวเมืองราบูล โดยการยึดครองเกาะรอบ เพื่อตัดขาดกำลังสนับสนุน และการฝ่าช่องโหว่ในแนวป้องกันในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง[200] เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็สามารถประสบความสำเร็จทั้งในสองปฏิบัตการ และยังสามารถทำลายฐานทัพเรือหลักของกองทัพเรือญี่ปุ่นได้ในบริเวณหมู่เกาะแคโรไลน์ เมื่อถึงเดือนเมษายน กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้เริ่มปฏิบัติการที่จะยึดครองเกาะนิวกินีตะวันตก[201]
อากาศยานอิล-2 ของโซเวียตเข้าตีกองทหารเยอรมันระหว่างยุทธการเคิสก์
ทางด้านสหภาพโซเวียต ฝ่ายเยอรมนีและสหภาพโซเวียตได้เตรียมการในแผนการสำหรับการรุกครั้งใหญ่ในฤดู ใบไม้ผลิและฤดูร้อน ค.ศ. 1943 ในแถบรัสเซียตอนกลาง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 กองทัพเยอรมันจึงได้เริ่มทำการโจมตีในแนวรบเคิสก์ส่วนที่ยื่นออกมา แต่ฮิตเลอร์กลับต้องยกเลิกแผนการนี้แม้ว่าจะผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียว เนื่องจากสูญเสียต่อการวางระบบป้องกันแบบขั้นบันไดและการป้องกันเมืองที่ แข็งแกร่ง[202][203][204] ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของพฤติการณ์ดังกล่าวของฮิตเลอร์ แม้ว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะยังไม่บรรลุผลทางยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีเลยก็ตาม[205] ผลจากการตัดสินใจดังกล่าว เป็นการกระตุ้นให้พันธมิตรตะวันตกรุกรานเกาะซิซิลี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ประกอบกับความล้มเหลวของอิตาลีที่ผ่านมา ส่งผลให้มุสโสลินีถูกจับกุมและถูกขับออกจากตำแหน่งหลังจากนั้น[206] เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 สหภาพโซเวียตก็ได้โจมตีโต้กลับของตน และได้ดับความหวังของกองทัพเยอรมันที่จะได้รับชัยชนะหรือแม้กระทั่งรักษา สภาพเสมอกันไว้ได้อีกในทางตะวันออก ทหารเยอรมันพยายามที่จะสร้างแนวป้องกันอย่างมั่นคงในแนวป้องกันซึ่งถูกสร้าง ขึ้นอย่างเร่งด่วน แนวแพนเธอร์-โวทาน อย่างไรก็ตาม กองทัพโซเวียตสามารถตีฝ่าได้ที่สโมเลนก์และการรุกดไนเปอร์ตอนใต้[207]
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1943 พันธมิตรตะวันตกเริ่มต้นการรุกรานอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตร ตามด้วยการสงบศึกระหว่างอิตาลีกับกองทัพสัมพันธมิตร[208] เยอรมนีมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยการส่งกองทัพเข้าไปดำเนินการปลดอาวุธกองกำลังอิตาลี และควบคุมอำนาจทางทหารในพื้นที่อิตาลีทั้งหมด[209] จากนั้นก็ได้สร้างแนวป้องกันขึ้นมาหลายชั้นด้วยกัน[210] เมื่อวันที่ 12 กันยายน กองกำลังพิเศษเยอรมันสามารถช่วยเหลือตัวมุสโสลินี และสร้างสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีขึ้นมาเป็นรัฐบริวารในการปกครองของเยอรมนี[211] ทางด้านกองทัพสัมพันธมิตรก็ได้ทะลวงผ่านแนวป้องกันเยอรมันได้จนมาถึงแนวป้องกันหลักของเยอรมนี เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน[212]
ทางด้านการรบทางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก กองทัพเรือเยอรมันประสบความสูญเสียอย่างหนักในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 จนถูกเรียกว่า "พฤษภาอนธการ" ความสูญเสียกองเรือดำน้ำของฝ่ายเยอรมนีเป็นจำนวนมาก ทำให้การดักทำลายกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตรต้องหยุดชะงัก[213] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1943 แฟรงกลิน รูสเวลล์และวินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้เดินทางไปพบกับเจียง ไคเช็ค ระหว่างการประชุมกรุงไคโร[214] และอีกครั้งกับโจเซฟ สตาลินระหว่างการประชุมกรุงเตหะราน[215] และผลจากการประชุมทั้งสองครั้งได้ข้อตกลงที่ว่า ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกจะรุกรานทวีปยุโรปภายในปี ค.ศ. 1944 และสหภาพโซเวียตจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นภายในเวลาสามเดือนหลังจากเยอรมนี ยอมแพ้เรียบร้อยแล้ว[215]
การยกพลขึ้นบกของทหารอเมริกันที่อันซิโอ
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1944 กองทัพสัมพันธมิตรได้โจมตีหลายครั้งที่ยุทธการมอนเต คาสสิโน และพยายามตีโอบด้วยการยกพลขึ้นบกที่อันซิโอ[216] เมื่อถึงปลายเดือนมกราคม กองทัพโซเวียตก็สามารถขับไล่กองทัพเยอรมันจากการปิดล้อมเลนินกราด[217] ส่วนปฏิบัติการรุกในเวลาต่อมาของโซเวียตก็ผลักดันแนวรบไปจนถึงพรมแดน เอสโตเนียก่อนสงคราม ซึ่งกองทัพกลุ่มเหนือของเยอรมนีได้รับความช่วยเหลือจากชาวเอสโตเนีย ด้วยความหวังที่จะสร้างเอกราชของชาติขึ้นมาใหม่[218][219] ซึ่งความล่าช้านี้ได้ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการในแถบทะเลบอลติกของโซเวียตเช่นกัน[220]
ทหารอังกฤษขณะทำการยิงปืนครกในยุทธการอิมพัล
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 กองทัพโซเวียตปลดปล่อยคาบสมุทรไครเมีย โดยสามารถขับไล่กองทัพอักษะออกจากยูเครนขนานใหญ่ และเริ่มทำการรุกเข้าไปยังโรมาเนีย ซึ่งถูกขับไล่โดยกองทัพอักษะ[221] พร้อมกับที่การรุกอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความสำเร็จ และบังคับให้กองทัพเยอรมันต้องล่าถอยไป และในวันที่ 4 มิถุนายน โรมก็ตกอยู่ในมือของฝ่ายสัมพันธมิตร[222]
ทางภาคพื้นทวีปเอเชีย ญี่ป่นได้ออกการโจมตีครั้งใหญ่สองครั้ง ครั้งแรก เริ่มในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ได้แก่ การโจมตีตำแหน่งของอังกฤษในรัฐอัสลัม ประเทศอินเดีย[223] และในไม่นานก็สามารถล้อมตำแหน่งของกองทัพเครือจักรภพได้ที่เมืองอิมพัลและเมืองโคฮีมา[224] อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 กองทัพอังกฤษได้ตอบโต้กองทัพญี่ปุ่นถอยกลับไปยังพม่า[224] และกองทัพจีนซึ่งเข้าโจมตีพม่าตอนเหนือเมื่อปลายปี ค.ศ. 1943 ได้โอบล้อมกองทัพญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่งที่เมืองมยิตตยินา[225] ส่วนการโจมตีครั้งที่สองเกิด ขึ้นในประเทศจีน โดยมีเป้าหมายที่จะทำลายกองกำลังต่อสู้หลักของจีน ให้ความปลอดภัยแก่รางรถไฟระหว่างดินแดนในยึดครองของญี่ปุ่น และตีฐานบินของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับคืน[226] ส่วนในเดือนมิถุนายน กองทัพญี่ปุ่นสามารถพิชิตมณฑลเหอหนานและเข้าโจมตีฉางชาอีกครั้งในมณฑลหูหนาน[227]

ฝ่ายสัมพันธมิตรรุกคืบ

การยกพลขึ้นบกที่หาดโอมาฮ่าในแคว้นนอร์มองดีระหว่างปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด
6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกได้ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีในปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด และหลังจากการมอบหมายหน้าที่ให้กับกองทัพสัมพันธมิตรหลายกองพลในอิตาลีแล้ว จึงเริ่มการรุกเข้าสู่ฝรั่งเศสตอนใต้ในเดือนสิงหาคม[228] จนสามารถปลดปล่อยกรุงปารีสได้ในวันที่ 25 สิงหาคม [229] และในช่วงเวลาต่อมากระทั่งสิ้นปี กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้ผลักดันให้กองทัพเยอรมันในยุโรปตะวันตกถอยร่นไปจนถึงแม่น้ำไรน์ แต่ความพยายามที่จะรุกเข้าสู่เยอรมนีตอนเหนือ ซึ่งนำโดย ปฏิบัติการพลร่มครั้งใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ ไม่ประสบความสำเร็จ[230] อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรยังคงดำเนินการรุกต่อไปในอิตาลีจนกระทั่งกองทัพเยอรมันถูกตีถอยร่นไปยังแนวป้องกันสุดท้าย
ส่วนทางด้านแนวรบด้านตะวันออก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน กองทัพโซเวียตได้กระหน่ำโจมตีเป็นชุดอย่างหนักต่อเยอรมนี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ไล่ตั้งแต่ปฏิบัติการบากราติออนในเบลารุส ซึ่งสามารถทำลายกองทัพกลุ่มกลางของเยอรมนีลงเกือบทั้งหมด[note 4] ตามด้วยปฏิบัติการในการขับไล่ทหารเยอรมันออกจากยูเครนตะวันตกและโปแลนด์ตะวันออก ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ขบวนการกู้ชาติโปแลนด์ได้เริ่มต้นก่อการจลาจล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรุงวอร์ซอ และการจลาจลในสโลวาเกียทางตอนใต้ แต่ทั้งการก่อจลาจลทั้งสองครั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังโซเวียตเลย และถูกปราบปรามลงโดยกองทัพเยอรมัน[231] ส่วนการโจมตีโรมาเนียได้ทำลายกองทัพเยอรมันไปเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดการรัฐประการในโรมาเนียและบัลแกเรีย ส่งผลให้ประเทศทั้งสองเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน[232]
ในเดือนกันยายน 1944 กองทัพแดงได้เคลื่อนทัพไปยังยูโกสลาเวีย ทำให้กองทัพกลุ่มอีและกองทัพกลุ่มเอฟต้องถอยร่นอย่างต่อเนื่องในกรีซ อัลเบเนียและยูโกสลาเวียต้องถอนกำลังออกไป เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกตัดออกจากกองกำลังส่วนอื่น ๆ[233] เมื่อถึงจุดนี้ พลพรรคชาวยูโกสลาฟวิก ภายใต้การนำของจอมพลโยเรียน เซ็กเซียนโต ซึ่งได้ครอบครองดินแดนจำนวนมากในยูโกสลาเวียและโจมตีกองทัพเยอรมันต่อไปทางทิศใต้ ในเซอร์เบีย กองทัพแดงได้มีส่วนช่วยเหลือพลพรรคในการปลดปล่อยกรุงเบลเกรด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ไม่กี่วันหลังจากนั้น กองทัพแดงได้โจมตีฮังการีครั้งใหญ่ในการรุกบูดาเปสต์ ซึ่งกินเวลานานก่อนที่กรุงบูดาเปสต์จะแตกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945[234] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะประสบความสำเร็จในคาบสมุทรบอลข่าน แต่การต่อต้านของฟินแลนด์ต่อ ปฏิบัติการของโซเวียตบนคอคอดแครีเลียน ได้ปฏิเสธการยึดครองของสหภาพโซเวียต ก่อนจะมีการนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกด้วยเงื่อนไขที่เสียเปรียบ เพียงเล็กน้อย[235][236] และทำให้ฟินแลนด์เปลี่ยนมาอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน
เรือประจัญบานยามาโตะถูกทิ้งระเบิดใกล้กับฐานปืนใหญ่ด้านหัวเรือ ระหว่างยุทธนาวีอ่าวเลย์เต
ถึงต้นเดือนกรกฎาคม กองทัพเครือจักรภพ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถคลายวงล้อมของกองทัพญี่ป่นที่รัฐอัสลัมลงได้ และสามารถผลักดันให้กองทัพญี่ปุ่นถอยไปได้จนถึงแม่น้ำชินด์วินด์[237] ขณะที่กองทัพจีนสามารถยึดเมืองมยิตคยินาในประเทศพม่าได้ ส่วนทางด้านประเทศจีน กองทัพญี่ปุ่นเริ่มได้รับชัยชนะอย่างมาก จากการยึดเมืองฉางชาไว้ได้ในที่สุดในตอนกลางเดือนมิถุนายน และยึดเมืองเหิงหยางได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม[238] จากนั้นจึงได้เคลื่อนทัพต่อไปยังมณฑลกวางสี สามารถเอาชนะกองกำลังจีนได้ที่กุ้ยหลินและหลิวโจว เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน [239] และประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกองทัพญี่ปุ่นในจีนและในคาบสมุทรอินโดจีนในกลางเดือนธันวาคม[240]
ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก กองทัพอเมริกันยังคงกดดันแนวป้องกันของญี่ปุ่นตามหมู่เกาะต่าง ๆ ต่อไป ราวกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทัพอเมริกันได้เริ่มต้นการโจมตีหมู่เกาะมาเรียน่าและปาเลา และได้รับชัยชนะเด็ดขาดต่อราชนาวีจักรวรรดิญี่ปุ่นในยุทธนาวีทะเลฟิลิปปินส์ภายในเวลาไม่กี่วัน และผลของความปราชัยนี้นำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นของพลเอกโตโจ และทำให้สหรัฐอเมริกามีฐานทัพอากาศซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินทิ้งระเบิด หนักเพื่อโจมตีแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่นได้ ปลายเดือนตุลาคม กองทัพอเมริกันยกพลขึ้นบกที่เกาะเลย์เต และหลังจากนั้นไม่นาน กองทัพเรือของสัมพันธมิตรก็ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ต่อกองทัพญี่ปุ่นอีกครั้งในยุทธนาวีอ่าวเลย์เต ซึ่งนับว่าเป็นยุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์[241]
ที่มา  http://th.wikipedia.org/wiki/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น